บนดาวที่มีพื้นที่เป็นน้ำ 71% ของพื้นที่ทั้งหมด ยังมีทรัพยากรหลับไหลรอการขุดค้นอยู่ มันคือสิ่งที่มนุษย์ควรทำแล้วหรือไม่?

ปัจจุบันความต้องการแร่จำพวกโลหะเพื่อมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแก็ดเจ็ตส์ในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อีกไม่นานแหล่งวัตถุดิบที่มีบนผืนแผ่นดินจะหมดไป
เพื่อไม่ให้ความก้าวหน้าหยุดชะงัก มนุษย์เริ่มมองหาแหล่งทรัพยากรใหม่ ซึ่งสถานที่ที่ครอบคลุมพื้นที่ของโลกมากกว่าครึ่งและยังถือเป็นแหล่งขุดค้นแร่ชั้นดีที่ใหญ่ที่สุดบนดาวเคราะห์ดวงนี้คือ โลกใต้มหาสมุทร
และนี่คือที่มาของโครงการ ‘Deep Sea Mining’ หรือ ‘เหมืองแร่ใต้ทะเลลึก’
เหมืองแร่ใต้ทะเลลึกคือโปรเจกต์ของการขุดค้นแร่ใต้ทะเลลึกขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่าง ๆ
เป็นการมุ่งเน้นหาแหล่งแร่ในระดับความลึกตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป โดยเฉพาะพื้นที่รวมตัวของแร่โลหะอย่างก้อนโพลีเมทัลลิก (Polymetallic Nodule) หรือบริเวณปล่องน้ำร้อนมหาสมุทรที่ความลึก 1,400 – 3,700 เมตรใต้ทะเล ซึ่งเป็นสถานที่ก่อตัวของแหล่งซัลไฟด์ขนาดใหญ่ (Massive Sulfide) อุดมไปด้วยแร่เงิน ทอง ทองแดง โคบอลต์ แมงกานีส และซิงก์
ปัจจุบันยังไม่มีการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลอย่างเต็มรูปแบบ ยังอยู่ในขั้นตอนที่ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเก็บข้อมูลของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศก้นมหาสมุทร เนื่องด้วยความรู้ความเข้าใจอันน้อยนิดหรือแทบจะเป็นศูนย์ ทำให้ยากต่อการคาดเดาถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกได้อย่างถี่ถ้วน
การพยายามขุดเอาแร่จากใต้ทะเลเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคปี 1970 แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างและต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลจึงไม่คุ้มค่านักในสมัยนั้น โครงการจึงเกือบถูกทิ้งร้างไป
แต่ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี บวกกับความต้องการวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เหมืองแร่ใต้ทะเลกลายเป็นทางออกที่หลายประเทศมองหา
แหล่งแร่ใต้ทะเลกระจายตัวไปทั่วน่านน้ำต่าง ๆ เช่น น่านน้ำเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone / EEZ) ของปาปัวนิวกินีคือหนึ่งในแหล่งแร่ซัลไฟด์ขนาดใหญ่ โดยบริษัทนอทิลัส มิเนอรัลส์ (Nautilus Minerals Inc.) จากแคนาดา เป็นบริษัทแรกของโลกที่ได้รับใบอนุญาตการทำเหมืองแร่จากรัฐบาลปาปัวนิวกินี และได้เริ่มทำการสำรวจขุดค้นแร่ตั้งแต่ปี 2007
ตลอดระยะเวลาดำเนินการมีกระแสต่อต้านจากชุมชนอย่างหนัก และยังไม่ทันที่จะประสบความสำเร็จในการขุดค้นแร่ บริษัทนอทิลัส มิเนอรัลส์ถูกฟ้องล้มละลายในปี 2019 จากความล้มเหลวการบริหารด้านการเงินสร้างหนี้สินทิ้งไว้เป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังมีเขตรอยแยกคลาเรียน คลิปเปอร์ตัน (Clarian-Clipperton Fracture Zone / CCFZ) ซึ่งอุดมไปด้วยก้อนแมงกานีส (Manganese Module) นับเป็นจุดที่ได้รับความสนใจในการทำเหมืองแร่จากบริษัทและสถาบันวิชาการต่าง ๆ มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในบริเวณนี้อย่างต่อเนื่องนานกว่า 40 ปี โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดขององค์การก้นทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority / ISA) ที่คอยกำกับดูแลเขตน่านน้ำสากล มรดกแห่งมนุษยชาติ
นับจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2018 ISA ได้ออกสัญญารวม 29 ฉบับให้กับบริษัททำเหมืองต่าง ๆ ในการสำรวจสายแร่ใต้ทะเลบนพื้นที่มากกว่า 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนแนวตอนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งละเอียดอ่อนที่ ยังต้องการความเข้าใจและศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม เพื่อวางแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ISA ได้เริ่มต้นร่างข้อกำหนดการทำเหมืองใต้ทะเลแล้ว และคาดว่าการทำเหมืองเพื่อการพาณิชย์ในน่านน้ำสากลจะเริ่มขึ้นในปี 2025
เขตทะเลลึกยังคงเป็นโลกลี้ลับสำหรับมนุษย์ ด้วยระดับความลึกราวกับตัดขาดจากโลกภายนอก มีสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่เรายังไม่รู้จักอาศัยอยู่ จากความรู้เพียงน้อยนิดทำให้เราแทบไม่สามารถคาดเดาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างถ่องแท้
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าการทำเหมืองแร่อาจรบกวนระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนเหล่านั้น จนถึงขั้นที่จะทำลายล้างความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเลบริเวณนั้นเลยก็เป็นได้
เกิดการถกเถียงมากมายเกี่ยวกับประเด็นนี้และผลกระทบอื่นต่อโลกใต้น้ำที่ไม่อาจมองข้ามได
จากการศึกษาวิจัย เป็นที่แน่นอนว่า การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกนั้นจะไม่ส่งผลดีต่อมหาสมุทรเป็นแน่
มีการเสนอทางเลือกอื่น อย่างเช่น การหาวิธีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ การใช้พลังงานทดแทน หรือการคิดค้นเทคโนโลยีที่ใช้โลหะน้อยลง เพื่อที่เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการทำลายระบบนิเวศที่อาจไม่สามารถกู้คืนได้
เราได้เรียนรู้ผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ต่อโลกมาแล้ว มันคุ้มค่าแล้วหรือ? ที่เราจะยอมแลกความต้องการของมนุษย์กับทำลายโลกใต้น้ำที่ล้ำค่าเหล่านั้น
อ้างอิง
Tags
ผู้นำการบริการการสื่อสารเเละนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน ตอบโจทย์สำหรับธุรกิจเเละอุตสาหกรรมเดินเรือไทย
Related Article
Ship Expert Technology ©All Rights Reserved 2020