เรือโพลาร์สเติร์นออกสำรวจอาร์กติก แผ่นดินสุดปลายทางทิศเหนือของโลก ที่ได้รับผลจาก climate change เพื่อทำความเข้าใจและหาวิธีปกป้องและปรับตัว

ช่วงฤดูร้อน แสงอาทิตย์ได้หลอมละลายน้ำแข็งจนเกือบหายไปหมด และในฤดูหนาว หิมะจะตกปกคลุมทำให้น้ำเกิดการแข็งตัว ก่อเป็นภูเขาและแผ่นดินน้ำแข็งกินพื้นที่สุดลูกหูลูกตา วนเวียนเป็นวัฏจักรมายาวนาน แต่วันนี้อาร์กติกกำลังจะละลายหายไปตลอดกาล
ตอลดหลาย 10 ปีมานี้ พื้นที่น้ำแข็งในอาร์กติกลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนเหลือพื้นที่น้ำแข็งเพียง 3.61 ล้านตารางกิโลเมตร นับเป็นสถิติต่ำสุดในปี 2012 โดยจากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ น้ำแข็งในอาร์กติกอาจละลายจนหมดไปราวกลางศตวรรษนี้ แต่ผลสำรวจล่าสุดพบว่า จุดเวลานั้นอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอาร์กติกเป็นสัญญานเตือนภัย ส่งผลกระทบให้เกิด domino effect กับโลกทั้งใบ ดังนั้น การทำความเข้าใจระบบนิเวศของอาร์กติก ความเชื่อมโยงของผลกระทบ และการหาสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของอาร์กติกจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
ภารกิจระดับนานาชาติด้วยความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศ มีมูลค่ากว่า 140 ล้านยูโร ในชื่อ MOSAiC (Multidisciplinary drifting Observatory for the Study of Arctic Climate) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้การนำของสถาบัน Alfred Wegener Institute (AWI)
ภารกิจยิ่งใหญ่และยาวนานนับปีนี้มีจุดประสงค์เพื่อการสำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูล และหาสาเหตุความเปลี่ยนแปลงของอาร์กติก ที่ได้รับกล่าวขานว่าเป็น ‘Epicenter of global warming’ หรือ ‘ใจกลางของภาวะโลกร้อน’
ทีมสำรวจต้องเผชิญกับสภาวะอากาศติดลบอันโหดร้ายในดินแดนน้ำแข็ง ซึ่งป้อมปราการที่จะเป็นที่อยู่อาศัย รับประกันความปลอดภัย และเป็นฐานที่ตั้งกลางของเหล่านักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์นั้นเป็นหน้าที่ของเรือโพลาร์สเติร์น
เรือสำรวจตัดน้ำแข็งสัญชาติเยอรมันลำนี้ คือกำลังหลักในการสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งนี้ของสถานบัน AWI
เรือเริ่มต้นใช้งานตั้งแต่ปี 1982 โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำรวจพื้นที่อาร์กติกและแอนตาร์กติก ซึ่งจนถึงปัจจุบัน เรือโพลาร์สเติร์นถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกที่มีความก้าวหน้าล้ำสมัยที่สุดของโลก มีประสบการณ์เดินทางมากกว่า 1.5 ล้านไมล์ทะเล หรือราว 2.7 ล้านกิโลเมตร (จากข้อมูลปี 2014)
ตัวเรือทำด้วยเหล็กกล้าหนาสองชั้น ใช้เครื่องยนต์กำลัง 20,000 แรงม้า สามารถแล่นผ่านน้ำแข็งหนาถึง 1.5 เมตรได้สบาย และยังสามารถตัดเจาะผ่านน้ำแข็งที่หนาถึง 3 เมตรได้ด้วย นอกจากนั้น เรือลำนี้ยังสามารถทนสภาวะอากาศได้ต่ำถึง -50 องศาเซลเซียส
ในระหว่างปี 1999-2001 เรือได้ถูกยกเครื่องใหม่ทั้งหมด พร้อมติดตั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เรือโพลาร์สเติร์นมีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ 9 ห้อง ที่ถูกใช้ในการวิจัยต่าง ๆ ทั้งทางชีววิทยา ธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ กระทั่งการวิจัยทางวิทยาธารน้ำแข็ง การวิจัยเคมี สมุทรศาสตร์ และด้านอุตุนิยมวิทยา
แม้บนเรือจะเพรียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการสำรวจอยู่แล้ว แต่เพื่อภารกิจครั้งนี้ อุปกรณ์การสำรวจเพิ่มเติมและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นได้ถูกติดตั้งเสริมเข้าไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำและเรือยาง ที่ไว้ให้ทีมวิจัยใช้เคลื่อนที่ออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูล รวมถึงระบบคอมพิวเตอร์บนเรือที่มั่นใจได้เลยว่าข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดจะถูกเก็บเข้าฐานข้อมูลและส่งต่อได้หากจำเป็น
“นี่เป็นครั้งแรก ที่การสำรวจขั้วโลกเหนือจะใช้เวลายาวนานถึงหนึ่งปีเต็ม” มาร์คัส เร็กซ์ (Markus Rex) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบัน AWI กล่าว “พวกเราต้องการเก็บข้อมูล ทำแบบจำลองภูมิอากาศของทั้งปีให้เที่ยงตรงมากที่สุด”
ที่จริงแล้ว การเดินทางไปอาร์กติกในช่วงฤดูหนาวนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ต้องเลือกเดินทางในช่วงที่น้ำแข็งบางที่สุด หลักการคือ เรือโพลาร์สเติร์นจะทำการฝังตัวเองเข้ากับแผ่นน้ำแข็งทางด้านฝั่งไซบีเรียช่วงปลายฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่แผ่นน้ำแข็งมีความบางที่สุด จากนั้นเรือจะลอยไปพร้อมกับแผ่นน้ำแข็ง เคลื่อนตัวไปตามกระแสน้ำในมหาสมุทรมุ่งตรงเข้าสู่ใจกลางของขั้วโลกเหนือ
ในการปฏิบัติจริงนั้น การเสาะหาแผ่นน้ำแข็งที่เหมาะสมนั้นยากกว่าที่คิดมาก เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งที่พบส่วนใหญ่เป็นแผ่นน้ำแข็งที่พึ่งเริ่มแข็งตัวได้ไม่นาน ไม่หนาและมั่นคงพอที่เรือจะฝังตัวได้ ต้องหาน้ำแข็งที่หนาอย่างน้อย 4 ฟุต
ทีมวิจัยใช้ทั้งเฮลิคอปเตอร์และเรือตัดน้ำแข็งอีกลำเพื่อช่วยค้นหา จนท้ายที่สุดก็พบแผ่นน้ำแข็งหนาราว 13 ฟุต และที่จุดนั้นคือฐานที่ตั้งหลักของภารกิจครั้งนี้
ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนในอาร์กติก ที่เป็นใจกลางของภาวะโลกร้อนนั้น ทีมสำรวจได้เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เก็บตัวอย่างน้ำแข็ง ตลอดจนสังเกตระบบนิเวศในอาร์กติก ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเติมช่องว่างในการวิเคราะห์แบบจำลองภูมิอากาศของอาร์กติก และเพิ่มเติมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้น
การทำความเข้าใจอาร์กติกนั้นเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการป้องกันและต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
การสำรวจครั้งนี้พบเจอกับอุปสรรคหลายอย่าง นอกจากต้องทนทำงานท่ามกลางสภาวะอากาศติดลบอันโหดร้ายแล้ว คณะสำรวจยังต้องคอยระวังนักล่าอย่างหมีขาวขั้วโลก เผชิญความเสี่ยงของแผ่นน้ำแข็ง
เคลื่อนที่หรืออาจแตกได้ตลอดเวลา ห้วงเวลากลางคืนที่มืดมิดยาวนาน และช่วงกลางวันในฤดูหนาวที่ไร้แสงอาทิตย์
ยิ่งช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ เหล่าทีมนักสำรวจจำต้องเจอกับฝันร้ายจากการระบาดของเชื้อโควิด-19
มาตรการการล็อกดาว์นเป็นเหตุเรือโพลาร์สเติร์นและทีมสำรวจถูกลอยแพ การสับเปลี่ยนบุคคลากรปฏิบัติหน้าที่ การขนส่งเชื้อเพลิงและเสบียงต่าง ๆ ล่าช้า เพราะไม่สามารถทำการบินได้ จึงต้องนำเรือ 6 ลำมาช่วยเหลือในภารกิจนี้ เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วภารกิจเดินหน้าต่อได้
ภารกิจแห่งยุคครั้งนี้ที่ยาวนานนับปีได้สิ้นสุดลงในช่วงต้นฤดูร้อนที่น้ำแข็งเริ่มละลายตัวอีกครั้ง
เรือโพลาร์สเติร์นเข้าเทียบท่าที่เบรเมอร์ฮาเฟิร์น (Bremerhaven) ประเทศเยอรมนี ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา
“เราเห็นอาร์กติกกำลังจะตาย” มาร์คัส เร็กซ์กล่าว
คณะสำรวจกลับมาพร้อมกับความจริงอันน่าเศร้าที่ว่า ถึงแม้ที่ใจกลางอาร์กติกยังปรากฏดินแดนน้ำแข็งตั้งตระหง่าน แต่ความหนาของผืนแผ่นดินน้ำแข็งนั้นกลับเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อ 40 ปีก่อน และอุณหภูมิในฤดูหนาวสูงขึ้นเกือบ 10 องศาจากที่ได้เคยบันทึกไว้
ช่วงฤดูร้อนน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วรอบทิศทาง และในเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ธารน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลายลงอย่างรวดเร็ว ทำสถิติต่ำสุดเป็นอันดับสองรองจากปี 2012
คณะสำรวจของ MOSAiC ได้นำตัวอย่างน้ำแข็งกลับมากกว่า 1,000 ตัวอย่าง เชื่อว่าข้อมูลจากการวิเคราะห์น้ำแข็งเหล่านี้จะสร้างความเข้าใจอาร์กติกเพิ่มขึ้นและสร้างแบบจำลองภูมิอากาศได้
ความรู้ ข้อมูล และผลการวิจัยจากภารกิจในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญให้เราต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น หากเราไม่ตระหนักและแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน สักวันหนึ่ง เราอาจได้ยินแต่เพียงเรื่องเล่าจากความทรงจำที่ว่า ครั้งหนึ่งขั้วโลกเหนือคือดินแดนซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยหิมะขาวและน้ำแข็งตลอดปี
อ้างอิง
ผู้นำการบริการการสื่อสารเเละนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน ตอบโจทย์สำหรับธุรกิจเเละอุตสาหกรรมเดินเรือไทย
Related Article
Ship Expert Technology ©All Rights Reserved 2020