< 1 MIN READ

“เรือชนรถ” บ้าไปแล้ว?! ยกนี้คาดเชือกแล้วดวลกันไปเลย

เตรียมเฮเลยครับพี่น้อง ทางฟากยุโรปเขามีโปรเจกต์ดันให้การเดินทางทางน้ำเข้ามาบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยจะใช้ประโยชน์จากเรือเล็กและท่าเรือที่เป็นการเดินทางในทะเลระยะสั้นและเส้นทางน้ำภายในแผ่นดิน ซึ่งปกติก็เป็นส่วนสำคัญของระบบคมนาคมของยุโรปอยู่แล้ว แต่คราวนี้จะอัปเกรดให้มันเป็นแบบออโต้เมติก ยืดหยุ่น และผู้คนเข้าถึงได้มากกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการในชื่อโปรเจกต์ AEGIS

‘AEGIS’ มีชื่อเต็มว่า Advanced, Efficient and Green Intermodal Systems แปลไทยบ้าน ๆ ได้ว่าเครือข่ายการเดินทางสุดล้ำ สะดวกสบาย และรักษ์โลก เหล่าสมาชิกในโปรเจกต์เล็งเห็นว่าด้วยข้อจำกัดด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งยังต้องลดเสียงและไม่ก่อมลพิษ วงการเรือนับว่าได้เปรียบการเดินทางทางบกมากกว่า

AEGIS โฟกัสไปที่การนำเรือขนาดเล็ก เส้นทางน้ำในแผ่นดิน และเส้นทางเดินเรือในทะเลระยะสั้นผนวกเข้ากับเทอร์มินัลขนาดใหญ่ที่เป็นท่าเรือหลักเพื่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งขึ้นมาใหม่ โดยเน้นว่าต้องให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้สะดวก มีบริการทั่วถึงทั้งในตัวเมืองและชนบทที่ห่างไกล ซึ่งเท่ากับเป็นการฟื้นฟูท่าเรือในพื้นที่นั้น ๆ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

โปรเจกต์เพิ่งเริ่มตั้งได้ไม่นานและอยู่ในช่วงทำการศึกษาดูความเป็นไปได้ โดยได้เลือกพื้นที่ศึกษามา 3 กรณี ได้แก่

กรณีศึกษา A – เทอร์มินัลทางทะเลระยะสั้น:

เป็นการใช้เรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กเพื่อเชื่อมเรือส่งสินค้าขนาดใหญ่จากบริเวณท่าเรือหลักตามแนวชายฝั่งไปยังพื้นที่ชนบทหรือบริเวณชายฝั่งด้านที่ผู้คนหนาแน่นน้อยกว่า โดยมุ่งลดจำนวนการใช้บริการท่าเรือหลักเพื่อความรวดเร็ว และขนของลงเรือเล็กที่ขับเคลื่อนโดยไม่ต้องใช้คนขับให้ส่งของถึงจุดหมายปลายทาง

กรณีศึกษา B – เชื่อมเส้นทางในทะเลระยะสั้นกับเส้นทางน้ำภายในแผ่นดินในประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์:

ลักษณะคล้าย ๆ กับกรณี A แต่เน้นไปที่เรือ RORO (Roll-on/roll-off) โดยเชื่อมท่าเรือตามที่ต่าง ๆ ในยุโรปตอนเหนือให้มาลงที่ท่าเรือหลักของเมือง Rotterdam, Ghent และ Zeebrugge จากนั้นใช้เส้นทางน้ำที่เล็กกว่าต่อไปยังเมือง Flanders มุ่งเน้นให้ส่งสินค้าด้วยเรือจนใกล้จุดหมายสุดท้ายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยใช้เรือขนาดเล็กที่ไม่ปล่อยมลพิษใด ๆ ทั้งสิ้น

กรณีศึกษา C – ฟื้นฟูท่าเรือภูมิภาคและเทอร์มินัลในตัวเมือง:

เคสนี้อยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก เนื่องจากมีการพัฒนาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างติดริมน้ำเพิ่มขึ้น ท่าเรือสำหรับธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องย้ายออกมานอกเมือง แต่ก็ยังอยู่ในสถานที่ตั้งชั้นดี การพัฒนาให้เทอร์มินัลในเมืองบริหารงานด้วยต้นทุนต่ำลงและรักษาฐานผู้ใช้บริการให้มีคนเข้ามาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถแข่งขันกับการเดินทางบนถนน อีกทั้งยังมีการพัฒนาภาคส่วนเรือ RORO และจัดให้มีการขนส่งหลากหลายรูปแบบที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ ซึ่งจะเชื่อมการขนส่งในทะเลระยะสั้นเข้ากับการเดินทางด้วยรถไฟ

โปรเจกต์ใช้เวลาศึกษา 3 ปี โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวน 7.5 ล้านยูโร มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเข้าร่วม มุ่งหวังให้ระบบการเดินทางทางน้ำในยุโรปก้าวสู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับตัวเลือกอื่นอย่างสูสี ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเรือหรือท่าเรือเล็กใหญ่ ไซส์ไหนก็ตาม รับรองได้เลยว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในระบบใหม่นี้แน่นอน

อ้างอิง

Related Article

บทความโดย
Ship Expert Technology

ผู้นำการบริการการสื่อสารเเละนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน ตอบโจทย์สำหรับธุรกิจเเละอุตสาหกรรมเดินเรือไทย

LEAVE YOUR COMMENTS

Please enable JavaScript in your browser to complete this form.

SHIP EXPERT TECHNOLOGY CO., LTD

223/61 (Room 65) Country complex Building Tower A Sanpawut road, Bangnatai, Bangna, Bangkok 10260 Thailand

Contact Us

sales@shipexpert.net
support@shipexpert.net

Tel : +622-1054646

ABOUT US

OUR VISION
WHY THRUST US

MARITIME COMMUNICATION

VSAT
VOIP
MARINE CCTV

MARITIME SOLUTION

ERP SHIP EXPERT ENTERPRISE
MARITIME AI/BI
SHIP STABILITY SOFTWARE

Ship Expert Technology ©All Rights Reserved 2020