คลองที่เชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกให้ถึงกัน เรื่องราวจากอดีตการขุดคลองที่ล้มเหลว เปลี่ยนมือ จนประสบความสำเร็จ

คลองปานามา คลองที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกแห่งแรกของโลก หนึ่งในโครงการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ ใช้เวลายาวนานกว่า 30 ปี เกิดเป็นเส้นทางเดินเรือหลักที่สำคัญของโลก
ย้อนไปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 จักรพรรดิชาลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งสเปนได้ทรงร่วมกันส่งทีมสำรวจวางแผนโครงการสร้างคลองเดินเรือที่จะตัดผ่านปานามา เพื่อสร้างความสะดวกในการสัญจรระหว่างสเปนและเปรู แต่ทีมสำรวจลงความเห็นว่าการก่อสร้างนั้นเป็นไปไม่ได้
ผ่านไปจนช่วงปี ค.ศ. 1881 บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส นำโดยนายแฟร์ดินอง เดอ เลสเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) ผู้ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างคลองสุเอซ ณ ประเทศอียิปต์ ได้ระดมทุนเข้าซื้อสัมปทานโครงการคลองปานามา และเริ่มก่อสร้างขุดคลองจากระดับน้ำทะเลโดยไม่มีประตูกั้นน้ำ
เนื่องจากขาดการศึกษาสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่เพียงพอ ทำให้เกิดอุบัติเหตุดินถล่ม ปัญหาต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งโรคระบาดที่เกิดขึ้นในภูมิอากาศเขตร้อน โดยเฉพาะโรคไข้เหลืองและมาลาเรีย ซึ่งได้คร่าชีวิตของคนงานเป็นจำนวนมากจนเกิดความล่าช้า เป็นเหตุให้คนงานเกิดความหวาดกลัวหนีกลับฝรั่งเศส
นายแฟร์ดินอง เดอ เลสเซปส์พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายต้องล้มเหลวสูญเงินไปกว่า 9,000 ล้านบาท มีคนงานเสียชีวิตกว่า 20,000 คน และโครงการหยุดชะงักในปี ค.ศ. 1894
ปี ค.ศ. 1903 สหรัฐอเมริกาเล็งเห็นความสำคัญในการขุดคลองปานามา จึงรับช่วงต่อจากฝรั่งเศสและเข้าดำเนินการขุดคลองปานามาในปี ค.ศ. 1904 โดยเริ่มจากการแก้ไขปัญหาโรคระบาดที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างก่อนหน้านี้ และดำเนินการขุดคลองปานามาแบบมีประตูกั้นน้ำเป็นระยะ ๆ จนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1914
คลองปานามาได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1914 โดยเรือขนส่งสินค้าลำแรกที่แล่นผ่านชื่อว่า เอ็มวี อันคอน (MV ANCON) ซึ่งเป็นการเปิดใช้งานหลังจากเปิดคลองสุเอซมาแล้ว 45 ปี และแม้การแพทย์ในช่วงการก่อสร้างโดยสหรัฐอเมริกาจะพัฒนามากขึ้น แต่ก็ยังมีการสูญเสียคนงานเป็นจำนวนกว่า 5,600 คน รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากโครงการนี้มากกว่า 25,000 คน
หลังจากนั้นได้เกิดกรณีพิพาทเเละจลาจลมากมายในประเด็นด้านความต้องการเป็นเจ้าของ กระทั่งในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1977 ได้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศปานามา โดยระบุว่า จะโอนสิทธิ์การครอบครองคลองปานามาให้แก่ประเทศปานามา โดยปานามาจะต้องรับประกันความเป็นกลาง และยอมให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาได้ทุกเวลา จนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1999 สหรัฐอเมริกายินยอมมอบสิทธิ์บริหารคลองปานามาให้แก่รัฐบาลปานามาอย่างสมบูรณ์
คลองปานามาได้รับการออกแบบให้มีประตูกั้นน้ำภายในคลองเป็นช่วง ๆ ตลอดระยะทาง ผิดกับคลองสุเอซที่ไม่มีประตูกั้นน้ำ ทั้งนี้เพื่อยกระดับเรือให้สูงขึ้นหรือลดต่ำลงเมื่อเรือแล่นผ่านจากปากคลองด้านหนึ่งไปออกปากคลองอีกด้านหนึ่ง
เนื่องจากความไม่เท่ากันของระดับน้ำทะเลของมหาสมุทรทั้งสองฝั่ง ซึ่งระดับน้ำทะเลเฉลี่ยฝั่งแปซิกฟิสูงกว่าฝั่งแอตแลนติกประมาณ 20 เซ็นติเมตร เพราะปัจจัยความแตกต่างด้านสภาพของมหาสมุทร เช่น ความหนาแน่นของน้ำ และภูมิอากาศ
ในช่วงปี ค.ศ. 2007 เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการเดินเรือและเรือเดินสมุทรที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่าง New Panamax หรือ Post Panamax มีการเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างส่วนขยายคลองปานามา The Third Set of Locks Project เพิ่มช่องการจราจรทางน้ำที่มีการขยายความกว้างและความลึกของเส้นทาง รวมไปถึงการก่อสร้างประตูเรือสัญจร และสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ทั้งฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก
มีการเปิดตัวในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2016 โดยเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติจีน Cosco Shipping Panama เป็นเรือลำแรกที่แล่นผ่านส่วนต่อขยายคลองปานามานี้
ถือว่าเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมดราว 5,250 ล้านดอลลาร์ หรือ 170,000 ล้านบาท และส่วนขยายคลองปานามานี้สามารถรองรับเรือบรรทุกขนาด 14,000 TEU หรือประมาณ 3 เท่าจากเดิม นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยพัฒนาธุรกิจการเดินเรือระดับโลก
อ้างอิง
ผู้นำการบริการการสื่อสารเเละนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน ตอบโจทย์สำหรับธุรกิจเเละอุตสาหกรรมเดินเรือไทย
Related Article
Ship Expert Technology ©All Rights Reserved 2020